ส่องหลังโรงเรียน “ตั้งต้นดี” เพื่อก้าวใหม่ของผู้พ้นโทษ
ก้าวแรกเข้าสู่โรงอาหารแห่งใหม่ที่มีชื่อว่า “ตั้งต้นดี” เราจะได้พบเห็นกับธงสีสันสดใส พิมพ์ด้วยภาพอาหารสีสวยน่าทาน จำนวนผู้คนในโรงอาหารในช่วงพักกลางวันนั้นหนาตา ต่างคนต่างพากันเลือกเดินดูรายการอาหารที่จัดวางอย่างเป็นระเบียบ สะอาดตาในแต่ละล็อกขายอาหาร หากดูเผินๆ คงไม่ทราบว่าผู้เป็นเจ้าของร้าน ผู้ทำอาหารออกมาบริการนั้น เป็นผู้ผ่านการใช้ชีวิตในเรือนจำมาแล้ว และพวกเขากำลังได้รับโอกาสสำคัญในชีวิต หันหลังให้กับวังวนแห่งการกระทำผิดซ้ำ เพื่อการเริ่มต้นใหม่ที่ยั่งยืน
การให้โอกาสผู้เคยกระทำผิด เป็นหนึ่งในแนวทางที่ดีที่สุดที่จะช่วยป้องกันและลดอาชญากรรมในสังคม หากมองจากสถิติของกรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม ได้รายงานสถิติในฐานข้อมูลผู้ต้องขังกระทำผิดซ้ำ (Recidivism Statistics Database) ของผู้พ้นโทษในระหว่าง พ.ศ. 2562 – 2564 พบว่า 1 ใน 3 ของผู้พ้นโทษจะกลับมากระทำความผิดซ้ำ ภายในสามปี
เหตุปัจจัยที่นำพวกเขาเข้าสู่เขาวงกตที่หาทางออกไม่ได้ คือความยากลำบากในการปรับตัวเข้าสู้ชีวิตใหม่ในสังคมหลังจากต้องใช้ชีวิตจากบทลงโทษที่ถูกจำกัดอิสรภาพ ทั้งยังต้องเผชิญกับการตีตราอย่างไม่มีที่สิ้นสุดจากสังคมข้างนอก การฝึกอาชีพ การพัฒนาทักษะชีวิตทั้งทางใจและกาย ภายในเรือนจำไม่ช่วยทลายกำแพงทัศนคติด้านลบจากผู้คนภายนอกบางส่วน
แต่โรงเรียนตั้งต้นดี จะเป็นบันไดอีกขั้นหนึ่ง ที่อาจช่วยพาพวกเขาไต่ออกจากกำแพงนั้นได้
โรงอาหารตั้งต้นดี คือผลของการทำงานหนักเบื้องหลังของคณะทำงานที่ต้องใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์ในการปลุกปั้นให้โรงอาหารแห่งนี้เกิดขึ้นและดำเนินต่อไป วันนี้ TIJ Newsletter จะขอบุกครัวตั้งต้นดี เพื่อเจาะลึกคนหลังครัวฯ คุณธนะชัย สุนทรเวช หรือ พี่เมฆ ผู้จัดการอาวุโสด้านการพัฒนาหุ้นส่วนทางสังคมและการมีส่วนร่วม สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย ผู้ดูแลโครงการ “โรงเรียนตั้งต้นดี”
จุดเริ่มต้นของโครงการโรงเรียนตั้งต้นดีเป็นมาอย่างไร
ที่ผ่านมา TIJ ก็ทำงานในการช่วยเหลือให้การอบรม ฝึกทักษะผู้ต้องขัง อย่างโครงการ Hygiene Street Food ที่ทำร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ มา เมื่อเราได้ย้ายที่ทำการสำนักงานมาที่ถนนแจ้งวัฒนะ จึงเห็นโอกาสที่ดีในการใช้เป็นพื้นที่ส่วนโรงอาหารของอาคาร showcase ความสามารถด้านอาหารของผู้พ้นโทษ และมีพัฒนาต่อเป็นโรงเรียนต้นแบบสำหรับผู้ที่พ้นโทษในอนาคต ที่สอนทักษะอาชีพที่หลากหลาย และเติมทักษะชีวิตในการอยู่ร่วมกับสังคม
เมื่อตั้งใจจะใช้พื้นที่โรงอาหารทำเป็นครัวตั้งต้นดี เราได้ไปปรึกษาเจ้าของร้านอาหารต่างๆ ที่รู้จักกัน และเป็นคนที่ใจกว้างให้โอกาสคน ทำให้มีเจ้าของร้านมาเข้าร่วมด้วยอย่างร้านหมูทอดเจ๊จง ร้านฮาลาลปันสุข by นะดา ร้านแอบแซ่บ ส้มตำ ร้านข้าวแกงหอมมะลิ
เพิ่มพร มณีสินธุ์ หรือ คุณจุ้น เจ้าของร้านข้าวแกงหอมมะลิ เดิมขายข้าวแกงอยู่ใต้อาคารจามจุรีแสควร์ สนใจร่วมโครงการจากเงื่อนไขที่เราให้โอกาสผู้พ้นโทษ ก็ได้ชวนไปทัณฑสถานหญิงกลางที่จังหวัดเชียงใหม่ ไปดูว่าเราทำอย่างไร คุณจุ้นทำการตลาดได้ก็เสนอตัวมาช่วยทำโครงการ มาเป็นที่ปรึกษาโครงการให้ด้วย
ความท้าทายของการเปิด “ครัวตั้งต้นดี”
ตั้งแต่เริ่มต้นโครงการ คือการหาเจ้าของร้านที่พร้อมจะให้โอกาส มาด้วยใจ เบื้องต้นตั้งเป้าไว้ว่าจะให้ค่าตอบแทนผู้พ้นโทษที่เข้าร่วมโครงการเป็นเงินวันละ 350 บาท และก่อนเริ่มงานเจ้าของร้านอาหารแต่ละแห่งที่เข้าร่วมก็พร้อมจะให้ผู้พ้นโทษได้เข้าไปเทรนงานก่อนด้วย แต่โมเดลนี้ เจ๊จง ซึ่งเข้ามาดูสถานที่ตั้งแต่แรกให้ความเห็นว่าจะไม่สามารถผูกใจให้คนมาทำงานได้ เพราะถ้าได้ค่าแรงที่อื่นมากกว่าก็จะไป ให้หาวิธีดึงคนให้อยู่ได้ จึงใช้วิธีแบ่งรายได้ โดยแบ่งเป็นเงินเดือน 10000 บาท และมีการให้เงินปันผลเพิ่มจากรายได้ของร้าน ก็จะเหมือนผู้ร่วมโครงการได้เป็นเจ้าของร่วมไปด้วย
ด้วยความที่ครัวตั้งต้นดีไม่ได้เน้นแค่ทักษะการประกอบอาหาร แต่พยายามยกระดับทักษะชีวิตของผู้พ้นโทษด้วย ความท้าทายอีกอย่างคือการบริหารจัดการวิกฤต อย่างเหตุที่ผู้ร่วมโครงการมีโอกาสที่จะกระทำผิดซ้ำ เช่นเสพยาเสพติด หรือการกู้หนี้ยืมสิน ตรงนี้ทางโครงการฯ ใช้วิธีสร้างความเชื่อใจให้ผู้ที่ทำผิดสมัครใจมาบอก ซึ่งก็จะมีวิธีการจัดการแตกต่างกันไป แล้วแต่ความผิด คนไหนที่พร้อมให้เราช่วยเหลือต่อ เราก็เข้าไปช่วยเหลือหรือพัฒนาทักษะชีวิตด้านต่างๆ ตามสถานการณ์ของแต่ละคน
จากเฟสแรกถึงวันนี้ประสบความสำเร็จอย่างไรบ้าง
เริ่มทำครัวตั้งต้นดีได้ 1 สัปดาห์ เราก็เห็นแล้วว่า จำนวนลูกค้าที่เข้ามานั้นมีมากเกินกว่าที่คาดไว้ เราคิดว่า เพราะเราตั้งราคาไว้ให้สามารถแข่งขันได้กับร้านอื่นๆ และเราก็มีการพัฒนาทักษะฝีมือคนทำอาหาร ทำให้อาหารอร่อยมีมาตรฐาน
นอกจากทำร้านเองแล้ว เรายังขยายไปทำจัดเลี้ยงให้กับหน่วยงานที่เข้ามาจัดงานในพื้นที่อาคารสำนักงานของเรา และระหว่างที่ทางกระทรวงยุติธรรมจะปรับปรุงโรงอาหารใหม่ เราก็จะได้ลูกค้าเพิ่มขึ้น
แต่สิ่งที่สำคัญมากคือพี่ๆ ที่เข้าร่วมกับโครงการเราจะได้ทักษะใหม่ๆ ที่เห็นได้ชัดคือมีการเปลี่ยนทัศนคติ และบุคลิกภาพที่ชัดเจน
ยกตัวอย่างพี่ๆ ที่ประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนตัวเอง
โรงเรียนตั้งต้นดี ให้โอกาสพี่ๆ ที่ตั้งใจดี แต่ละคนเคยสมัครงานกันแล้วแต่ไม่เคยได้งาน เพื่อให้เค้าได้มีอาชีพที่ทำเองได้ โครงการเราช่วยให้พี่ๆ เค้าได้รับการฝึกทักษะ เหมือนการสกรีนคนให้แล้วชั้นหนึ่ง การที่มาอยู่กับเรา 3 เดือน ทำให้เราเข้าใจชีวิต ข้อจำกัด และความต้องการของแต่ละคน
อย่างพี่บางคนตอนนี้ก็ออกไปทำงานที่ร้านข้าวแกงหอมมะลิในสาขาธนิยะ อีกคนได้รับการยอมรับให้ไปทำงานที่ร้านอาหารเอี่ยวไถ่ แล้วยังมีพี่ที่อยากเปิดกิจการร้านก๋วยเตี๋ยวของตัวเอง ซึ่ง TIJ ก็ได้ช่วยเหลือต่อเนื่อง โดยการลงพื้นที่ร่วมกันเพื่อหาสถานที่ที่จะตั้งร้าน
เราตั้งใจที่จะช่วยเหลือในฐานะพี่เลี้ยงให้พวกเขาอยู่ได้อย่างเต็มตัว ประคับประคองกันไป 3-6 เดือน นอกจากนี้ เราก็อยากที่จะเก็บคนที่มีความตั้งใจดีไว้เพื่อเป็นพี่เลี้ยงแก่ผู้ร่วมโครงการที่เข้าใหม่ต่อไป
เฟสถัดไปของโรงเรียนตั้งต้นดี
เราตั้งใจให้เป็นพื้นที่ให้โอกาสคนที่ไม่ได้จำกัดเฉพาะร้านอาหาร แต่ยังมีทักษะอาชีพอื่นๆ ที่สามารถฝึกอบรมให้ได้ อย่างร้านเสริมสวย ร้านนวดสปา ร้านทำผม โดยใช้พื้นที่ด้านหลังของอาคาร TIJ ในส่วนของโรงเรียนตั้งต้นดี เพื่อการนี้ และร่วมกับพันธมิตร ในการจัดหาคอร์สเข้ามาเสริม แล้วยังมีงานประเภท Digital Workforce ที่ตั้งใจจะให้เป็นการฝึกทักษะแก่เด็กที่ก้าวพลาดที่อยู่ในศูนย์ฝึก โดยจะเป็นการเรียนการ Coding ผ่านเกมด้วย
คิดว่าสุดท้ายแล้ว โรงเรียนตั้งต้นดี จะเป็นอย่างไร
สุดท้ายแล้วอยากเห็นโรงเรียนตั้งต้นดีเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคม (Social Entreprise) อีกแห่งที่ช่วยสังคมได้ และสามารถทำกำไรได้ด้วย รวมทั้งเป็นโรงเรียนต้นแบบเป็นตัวอย่างที่คนอื่นสามารถนำไปเป็นโมเดลตั้งต้นธุรกิจได้ และเป็นโรงเรียนจริงๆ ที่ช่วยหาบุคลากรที่มีคุณภาพ ให้ได้ทำงานที่สร้างประโยชน์กลับคืนสู่สังคมได้
21/06/2023